Thai CSR Network

(www.thaicsr.com)

ซีเอสอาร์ : คือ "การลงทุน" หรือ "การทำบุญ"


คำว่า “บุญ” ตามความหมายในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ความดี คุณงามความดี หรือการกระทำดีตามหลักคำสอนในศาสนา ส่วนคำว่า “ลงทุน” หมายถึง ออกเงินเป็นทุนเพื่อหากำไร

คนส่วนใหญ่ มักมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกับคำว่า “ทำบุญ” โดยเข้าใจว่าเป็นเพียงการทำทาน หรือการบริจาคเงิน วัตถุ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว การ “ทำบุญ” มีความหมายกว้างกว่าทาน (ในบุญกิริยาวัตถุ 3 มีทั้งเรื่องทาน ศีล ภาวนา)

การทำบุญ หมายรวมตั้งแต่การไม่สร้างผลกระทบเบียดเบียนผู้อื่น การทำความดี การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ที่ด้อยกว่า โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการให้เงินหรืออามิสเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้อาชีพ การแบ่งปันตลาด หรือการให้อภัย ตลอดจนการให้ความรู้ คำแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ โดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนในลักษณะที่เป็นการทวง “บุญ” คืน ในขณะที่ การ “ลงทุน” มีความหมายสื่อไปในทางที่คาดหวังทั้งผลตอบแทนและทุนกลับคืนมา

ในการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ จึงไม่ควรพิจารณาด้วยการใช้ผลตอบแทนที่จะเกิดแก่ตนเองเป็นที่ตั้ง (เช่น บริจาคเงินเพื่อจะได้ลดหย่อนภาษี) แต่ควรคำนึงถึงประโยชน์ที่จะตกแก่สังคมหรือผู้ที่ถูกคาดหมายให้ได้รับเป็นอันดับแรก เพราะตามกฎของธรรมชาติ การกระทำทุกการกระทำ ย่อมที่จะมีผลแห่งการกระทำ (วิบาก) เกิดขึ้นคู่กับการกระทำ (กรรม) นั้นๆ เสมอ แม้ผู้กระทำจะมิได้หวังผลแห่งการทำความดีนั้น แต่ผู้กระทำย่อมจะได้รับผลหรืออานิสงส์แห่งความดีนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่แล้วโดยไม่ต้องคาดหวัง

ฉะนั้น การดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ที่องค์กรธุรกิจคำนึงถึงสิ่งตอบแทนที่จะได้รับเป็นสำคัญเหนือประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียหรือบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นผลลัพธ์ทางด้านการเงิน การตลาด หรือการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมซีเอสอาร์นั้นไม่อาจถือว่าเป็นซีเอสอาร์ที่แท้

ตัวชี้วัดการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ที่ดีนั้น ไม่ได้ตัดสินจากมูลค่าที่เป็นตัวเงินบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดหรือการสร้างภาพลักษณ์ หรือจากจำนวนกิจกรรมที่เป็นไปเพื่อการประชาสัมพันธ์ ในทางตรงกันข้าม การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่ดี อาจไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเพิ่ม หรือสร้างกิจกรรมพิเศษใดๆ เพิ่มเติม มากไปกว่าการดูแลตรวจตรากระบวนการทางธุรกิจโดยปกติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ทั้งองค์กรและสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม โดยไม่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จนสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


(ปรับปรุง: สิงหาคม 2553)



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์