Thai CSR Network

(www.thaicsr.com)

ซีเอสอาร์เทียมกับซีเอสอาร์แท้ ดูอย่างไร


การจำแนกกิจกรรม (activity) ซีเอสอาร์ สามารถพิจารณาได้ในหลายมิติ ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการอ้างอิง อาทิ การจำแนกโดยยึดที่ตัวกระบวนการทางธุรกิจ การจำแนกโดยพิจารณาที่เจตนารมณ์แห่งการกระทำ การจำแนกตามทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินงาน การจำแนกตามกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบ การจำแนกโดยคำนึงถึงประเด็นปัญหาทางสังคม การจำแนกตามรูปแบบของกิจกรรมที่ทำ หรือการจำแนกโดยใช้เกณฑ์ผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง

หากพิจารณาโดยใช้เกณฑ์กระบวนการ (process) ในองค์กร สามารถจำแนกกิจกรรมซีเอสอาร์ได้เป็น 3 จำพวก (division) โดยจำพวกแรกเรียกว่า CSR-after-process คือ การดำเนินกิจกรรมของหน่วยงาน เพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์แก่สังคมในด้านต่างๆ โดยกิจกรรมที่ดำเนินการนั้นมักแยกต่างหากจากการดำเนินธุรกิจที่เป็นกระบวนการหลักของกิจการและเกิดขึ้นภายหลัง จำพวกที่สองเป็น CSR-in-process คือ การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ หรือเป็นการทำธุรกิจที่หากำไรอย่างมีความรับผิดชอบ และจำพวกที่สามเป็น CSR-as-process คือ การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรที่ดำเนินงานโดยไม่แสวงหากำไรให้แก่ตนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อยังประโยชน์ให้แก่สังคมในทุกกระบวนการของกิจการ

หากพิจารณาโดยใช้เกณฑ์เจตนารมณ์ (spirit) แห่งการกระทำ สามารถจำแนกกิจกรรมซีเอสอาร์ได้เป็น 2 ระดับชั้น (class) ได้แก่ ซีเอสอาร์ระดับพื้นฐาน ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ที่เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ หรือตามระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย และซีเอสอาร์ระดับก้าวหน้า ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ที่เกิดจากการอาสาหรือสมัครใจยินดีในการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์นั้นด้วยตัวเอง มิใช่เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่หรือตามกฎหมาย

หากพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ทรัพยากร (resource) ที่ใช้ในการดำเนินงาน สามารถจำแนกกิจกรรมซีเอสอาร์ได้เป็น 2 ตระกูล (order) ได้แก่ Corporate-driven CSR คือ การดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์กรเป็นหลัก และ Social-driven CSR คือ การดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์โดยใช้ทรัพยากรนอกองค์กรหรือจากสังคมเป็นหลัก

หากพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) ที่ได้รับผลกระทบ สามารถจำแนกกิจกรรมซีเอสอาร์ได้เป็นวงศ์ (family) ของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่องค์กรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัวของพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน หรือกระทั่งคู่แข่งขันทางธุรกิจ

หากพิจารณาโดยใช้เกณฑ์เรื่องหลัก (core subject) หรือ ประเด็น (issue) ทางสังคม สามารถจำแนกกิจกรรมซีเอสอาร์ได้ตามมูลเหตุ (cause) ที่องค์กรต้องการเข้าไปดำเนินการ เช่น การกำกับดูแลองค์กร สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ประเด็นด้านผู้บริโภค การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน

หากพิจารณาโดยใช้เกณฑ์รูปแบบของกิจกรรม (initiative) ที่ทำ ศ.ฟิลิป คอตเลอร์ และแนนซี่ ลี ได้จำแนกรูปแบบของซีเอสอาร์ไว้ในหนังสือ "Corporate Social Responsibility" ออกเป็น 7 ชนิด (type) กิจกรรม ได้แก่ การส่งเสริมการรับรู้ประเด็นปัญหาทางสังคม การตลาดที่เกี่ยวโยงกับประเด็นทางสังคม การตลาดเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาสังคม การบริจาคเพื่อการกุศล การอาสาช่วยเหลือชุมชน การประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก

หากพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ผลประโยชน์ (benefit) เป็นที่ตั้ง สามารถจำแนกกิจกรรมซีเอสอาร์ได้เป็น 2 พันธุ์ (variety) ได้แก่ ซีเอสอาร์แท้ ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมเป็นที่ตั้ง และซีเอสอาร์เทียม ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อองค์กรเป็นที่ตั้ง

ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจหลายแห่งได้นำเรื่องซีเอสอาร์มาเป็นประเด็นสื่อสารทางการตลาด บางองค์กรขยายผลเพื่อใช้ซีเอสอาร์เป็นรูปแบบในการกีดกันการแข่งขันการค้า จนทำให้ซีเอสอาร์กลายเป็นเครื่องมือทางธุรกิจที่สนองประโยชน์ต่อองค์กร แทนที่จะเป็นกิจกรรมที่สนองประโยชน์ต่อสังคม ในวงธุรกิจทุกวันนี้ จึงมีทั้งซีเอสอาร์แท้ และซีเอสอาร์เทียม


(ปรับปรุง: สิงหาคม 2553)



2 ความคิดเห็น:

Blogger Unknown said...

เรียนที่ มธ. ค่ะ ได้ฟังบรรยายเรื่องนี้แล้ว สนใจมากค่า อยากที่จะทำเป็นวิทยานิพนธ์ หรือโครงงานเฉพาะบุคคลเลย เพราะคิดว่าเป็นประโยชน์มากๆ กับสังคมย่อยๆ ทั้งหลายที่กำลังต้องการความช่วยเหลืออยู่ค่ะ เลยต้องการอยากจะเผยแพร่เรื่อง ซีเอสอาร์ ออกไปให้กว้างกว่านี้ค่ะ เพราะคิดว่าเรื่องยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยทั้งที่มีมานานมากแล้วค่ะ

11:04 AM  
Blogger pan said...

มีความรู้สึกว่า แม้แต่ภาคเอกชน ซึ่งโดยหลักแล้ว ต้องมุ่งแสวงหากำไร ก็ยังเห็นความสำคัญของการรับผิดชอบต่อสังคม อย่างขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ในภาครัฐ ก็คงต้องหวนกลับมามองบทบาทของตน ว่า ได้ปรับปรุงพัฒนาการให้การบริการของภาครัฐ ให้มุ่งสร้างความผาสุกแก่สังคม และบริการประชาชนด้วยความตั้งใจ เต็มกำลังความสามารถของตนมากขึ้น

12:22 AM  

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์